ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย

ประวัติศาสตร์สนามมวย

ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย
มวยไทย เป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการกีฬาและการต่อสู้จริงๆ
บรรพบุรุษของเราใช้อัจฉริยภาพอันโดดเด่นคิดค้น พลิกแพลง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนา ข้อดี – ข้อด้อย จนกระทั่งมวยไทยกลายเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่มีพิษสงร้ายกาจเหนือใคร พร้อมได้วางกฎเกณฑ์แนวทางบัญญัติไว้เป็นหลักวิชาการตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสุดยอดวิทยายุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการพลิกพลิ้ว หลบหลีก บ่ายเบี่ยง ปิดปัด ป้องกัน ต่อต้าน โต้ตอบ และรุกไล่ เพื่อเอาชัยชนะเมื่อคู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ ล้วนมีครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งกลเม็ดเด็ดพรายเหล่านี้ เรียกรวมกันว่า “แม่ไม้” และ “ลูกไม้” มวยไทย
มวยไทยเป็นกีฬาที่เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คือ อาวุธทั้ง 5 ได้แก่ ศีรษะ มือ (หมัด) เท้า เข่า ศอก เป็นอาวุธในการต่อสู้ นอกจากนี้ยังเป็นศิลปะที่แสดงออกถึงกลยุทธ์ที่สามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วว่องไวในการต่อสู้ป้องกันตัว เดิมทีมวยไทยก็ชกกันด้วยหมัดเปล่าๆ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม
ต่อมาก็พัฒนาด้วยการใช้ด้ายดิบพันมือถักปมเป็นรูปกันหอยที่ปลายหมัด แล้วชุบกาวโรยผงแก้วละเอียด หรือโรยด้วยกรวดทรายเพื่อให้แข็งคมเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก็ยังมีการใช้เชือกพันด้วยด้ายดิบชุบกาว หรือน้ำมันยางปนเศษแก้วป่นละเอียดพันมือ ที่เรียกกันว่า “คาดเชือก”
นักมวยไทยในยุคโบราณชกกันกลางแจ้ง คนดูที่ถือหางของแต่ละฝ่ายก็ต้องล้อมวงเข้ามาเชียร์ นานวันก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยปักหลักสี่มุม ขึงเชือกกั้นเป็นสัดส่วน แยกระหว่างนักมวยกับคนดู จนกระทั่งมีการยกพื้นขึ้นเป็นเวทีมาตรฐานตามลำดับ
มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติไทยมาช้านานนับร้อยปี แต่ยังไม่มีการจัดแข่งขันอย่างแพร่หลายเป็นระบบเช่นปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชิงมวยไทยสมัยก่อนจะมีโอกาสได้โชว์ฝีมือก็ต่อเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปีเป็นครั้งคราว และมิได้ยึดเอาการชกมวยเป็นอาชีพ แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่นิยมฝึกฝนมวยไทยก็เพื่อใช้เป็นวิชาป้องกันตัวเท่านั้น
พัฒนาการของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย

  1. สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1781 – 1921) ในสมัยสุโขทัยนี้ การต่อมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยมีใช้ อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึกและเป็นการใช้ร่วมกับอาวุธชนิดต่างๆ สถานที่ที่เป็นสำนักฝึกสอนวิชามวยไทยในสมัยนี้ ได้แก่ วัด บ้าน สำนักราชบัณฑิตที่เปิดสอนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวรวมอยู่ด้วย
  2. สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310) สมัยนี้การถ่ายทอดวิชาการต่างๆ มาจากสมัยสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การฆ่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ และวัดก็คงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญ และฝึกความชำนาญในเชิงดาบ กระบี่กระบอง กริช มวยไทย ยิงธนู เป็นต้น และช่วง พ.ศ. 2174-2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเจริญที่สุด มีนายขนมต้มที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ มวยไทย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน นายขนมต้มจึงเป็นนักมวยเอกคนแรกของไทยที่ได้ประกาศฝีไม้ลายมือ มวยไทยในต่างแดน และยังเปรียบเสมือนกับเป็นบิดาวิชามวยไทยมาจนเท่าทุกวันนี้
  3. สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2314) พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยดาบหัก
    (นายทองดี ฟันขาว) ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ได้โปรดให้ครองเมืองพิชัยอยู่นั้นได้นำทัพออกต่อสู้กับพม่าจนดาบหัก แต่ก็สามารถป้องกันเมืองพิชัยเอาไว้ใด้ ประชาชนทั่วไปจึงเรียกว่า พระพิชัยดาบหักตั้งแต่ นั้นมา ซึ่งต่อมาพระเจ้าธนบุรีจึงได้แต่งตั้ง นายทองดี ไปครองเมืองพิชัย และมีความชอบได้เป็นถึงพระยาพิชัย ในเวลาต่อมาแม้กระทั่งในตระกูลของพระยาพิชัยดาบหัก เมื่อรับราชการมาจนถึงรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า วิชัยขัทคะ แปลว่า ดาบวิเศษของพระยาพิชัย
  4. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 ในระยะต้น รัชกาลที่ 1 – 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยที่ทรงโปรดการกีฬา เช่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดกีฬามวยไทยอย่างต่อเนื่อง ในสมัยนี้ได้มีฝรั่งสองคนพี่น้องเข้ามา หาคู่ชกมวยชนิดมีเดิมพัน พระองค์ได้จัดส่งหมื่นผลาญ นักมวยผู้เก่งกาจขึ้นชกกับฝรั่งสองพี่น้อง แม้หมื่นผลาญจะมีร่างกายเล็กเสียเปรียบฝรั่งมาก แต่ด้วยศิลปะมวยไทย อาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก ฝรั่งสองพี่น้องจึงพ่ายแพ้ยับเยินกลับไป สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ หลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทย จึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้น ในชนบทและในกรุง นอกจากนี้ได้ทรงแต่งตั้งผู้มีฝีมือในกีฬามวยไทยให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬาและให้ ยศตำแหน่งด้วย ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงฟื้นฟูมวยไทยให้เป็นกีฬาประจำชาติ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามมวยขึ้นภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจัดให้มีการแข่งขันชกมวยทุกวันเสาร์ ในปี พ.ศ.2464 นั่นคือยุคเริ่มแรกที่ถือว่ากีฬามวยเป็นอาชีพอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยหลังจากนั้นได้มีการจัดสร้างสนามมวยถาวรขึ้นติดต่อกันมาหลายสนาม ตามลำดับดังนี้
    สนามสวนกุหลาบ (ปัจจุบันคือสนามฟุตบอลในโรงเรียนสวนกุหลาบ)
    สนามท่าช้าง (ปัจจุบันคือราชนาวีสโมสร)
    สนามหลักเมือง (ปัจจุบันคือองค์การเชื้อเพลิง น้ำมันสามทหาร)
    สนามสวนสนุก (ปัจจุบันคือสวนลุมพินีด้านหอนาฬิกา ถนนวิทยุ)
    สนามสวนเจ้าเชตุ (ปัจจุบันคือกรมการรักษาดินแดน)
    สนามท่าพระจันทร์ (ปัจจุบันเป็นอาคารร้านค้าฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช)
    เวทีพัฒนากร (ปัจจุบันเป็นโรงหนังชั้นสอง ใกล้สามแยก ถนนเจริญกรุง)
    เวทีศรีอยุธยา (ปัจจุบันเป็นทาวน์เฮาส์ ย่านสี่กั๊กพระยาศรี)
    เวทีธนบุรี (ปัจจุบันคือตรงที่เป็นวงเวียนใหญ่)
    สนามมวยเวทีราชดำเนิน
    สนามมวยเวทีลุมพินี
    ในสมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเป็นประจำ และยังมีเวทีมวยที่เปิดการแข่งขันถาวรและชั่วคราวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกมากมาย ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 มีสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. นี้ให้มีหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง สนับสนุนและควบคุมกิจการมวยในประเทศไทยให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของวงการมวยเมืองไทย กีฬามวยไทยได้รับความสนใจจากคนไทยทั่วไป รวมทั้งชาวต่างชาติจำนวนมาก ปัจจุบันมีการแข่งขันมวยไทยกันทุกวัน แม้จะต้องเสียเงินค่าเข้าชมการแข่งขันที่มีราคาสูงกว่ากีฬาชนิดอื่นก็ตาม จนในขณะนี้กีฬามวยไทย ได้เปลี่ยนเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่กลุ่มนักมวย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนสนใจฝึกหัดมวยไทยกันอย่างจริงจัง เพื่อเป็นอาชีพ ของตนเอง มีรายได้พอเลี้ยงชีพได้อย่างหนึ่งโดยเงินจากการแข่งขันเป็นรางวัลตอบแทน

สนามมวยเวทีลุมพินี
ผู้ก่อตั้ง
พลตรี ประภาส จารุเสถียร (ผู้บัญชาการทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในขณะนั้น)
หน่วยงานรับผิดชอบ

สนามมวยเวทีลุมพินี รับผิดชอบตั้งแต่ พฤศจิกายน 2563 – ปัจจุบัน
กำเนิดสนามมวยเวทีลุมพินี
สนามมวยเวทีลุมพินี (ชั่วคราว) หลังพระรูป ร.6 กำหนดจัดการแข่งขันชกมวยทุกวันเสาร์มี แมตช์เมกเกอร์ทำหน้าที่ผู้ประกบคู่มวย 3 คน คือ นายสุชาติ อุมานนท์, นายจุลพงษ์ อุจะรัตน และ นายมนู สมพันธ์ เปิดทำการแข่งขันรายการแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2499 ซึ่งนอกจากจัดมวยรายการปกติแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนมวยดีจากหัวหน้าคณะต่างๆ มาจัดเป็นรายการยิ่งใหญ่หลายรายการ บวกกับการประชาสัมพันธ์ที่ทันสมัยเข้าถึงมวลชน จึงทำให้สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ จากแฟนมวยยุคนั้นหลังจากเปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 6 เดือน สัญญาเช่าสถานที่ก็หมดลง เทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงขอให้สนามมวยเวทีลุมพินี ย้ายออกไป เมื่อนำเรื่องขึ้นกราบเรียน พล.ต.ประภาส จารุเสถียร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 และรองผู้บัญชาการภาคทหารบกที่ 1 ซึ่งกำลังจะขึ้นครองยศพลโท ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ได้มีบัญชาให้ดำเนินการจัดหาสถานที่สร้างสนามมวยแห่งใหม่ แม้ในขณะนั้นกฎกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ในจังหวัดหนึ่งจะอนุญาตให้ตั้งสนามมวยถาวรได้แห่งเดียว แต่เพราะกระทรวงมหาดไทยได้ออกใบอนุญาตให้กองพลที่ 1 รักษาพระองค์แล้ว (ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 18782/2504 ลงนามโดย พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยความให้อนุญาตให้จัดตั้งสนามแข่งขันชกมวยได้เฉพาะจังหวัดพระนครไม่เกิน 2 สนามจังหวัดธนบุรีและจังหวัดอื่นๆ ไม่เกิน 1 สนาม)
ในที่สุดก็ได้ทำเลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสนามมวยแห่งใหม่ที่ถนนพระราม 4 เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งกองสัญญาณทหารเรือ และต่อมาตกอยู่ในความดูแลของกรมการสื่อสารทหารบก การติดต่อประสานงานเพื่อขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างสนามมวยจึงสำเร็จเรียบร้อยโดยง่าย
วางศิลาฤกษ์สนามถาวร
การวางศิลาฤกษ์เวทีถาวรของสนามมวยลุมพินี ได้ฤกษ์ คือ วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2499 เวลา ศุภฤกษ์ 08.52 น. ตามที่โหรให้ไว้ พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ นายสนามได้กล่าวเชิญ พล.ต.ประภาส จารุเสถียร รองแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นผู้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณ ใจกลางที่จะสร้างสังเวียน ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติของกองทัพบกและบุคคลสำคัญในวงการมวยมาชุมนุมกันอย่างพร้อมพรั่ง
จัดการแข่งขันครั้งแรก
การก่อสร้างสนามถาวรของเวทีลุมพินีนี้ พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ ได้ยืมเงินจากกระทรวงกลาโหมมาก่อตั้ง โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของหน่วย มีทหารจากกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นช่างออกแบบและควบคุม และได้ขออนุญาตเบิกตัวนักโทษทหารจากเรือนจำ มทบ.11 มาเป็นส่วนแรงงาน ซึ่งหลังจากเริ่มลงมือก่อสร้างได้ประมาณเดือนเศษ สนามมวยแห่งใหม่ก็เสร็จเรียบร้อย มีลักษณะเป็นสนามกลางแจ้ง ล้อมด้วยรั้วสังกะสี โครงสร้างสนามทำจากไม้ มีหลังคาเฉพาะที่เวทีชก ส่วนอัฒจันทร์ที่นั่งชั้นสองสาม สามารถจุคนดูได้ประมาณ 1,000 คน เปิดดำเนินการแข่งขันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2499 มีว่าที่ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร ในฐานะประธานกรรมการ เป็นผู้ทำพิธีเปิดแพรคลุมป้าย ถือเป็นวันสถาปนาอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2503 สนามมวยเวทีลุมพินีจัด โผน กิ่งเพชร ชิงแชมเปี้ยนโลกรุ่นฟลายเวทจาก ปาสคาล เปเรช ผู้ครองตำแหน่งจากอาร์เจนตินา โดยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปทอดพระเนตรด้วย ทางสนามได้จัดสร้างที่ประทับถวายบนอัฒจันทร์ชั้นสองทางด้านทิศใต้และถือโอกาสขยายอัฒจันทร์ชั้นสาม โผน กิ่งเพชร ได้เป็นแชมเปี้ยนโลกของประเทศไทยและสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ได้ถือเอาวันที่ 16 เมษายน ของทุกๆ ปีเป็นวันนักกีฬายอดเยี่ยม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา สนามมวยเวทีลุมพินี จึงได้ชื่อว่าเป็นสนามสร้างแชมเปี้ยนโลกคนแรกของประเทศไทย
ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯ มีความต้องการพื้นที่สนามมวยเวทีลุมพินี ถนนพระราม 4 คืนเพื่อดำเนินการในกิจการของสำนักงานทรัพย์สินฯ
กองทัพบก ได้อนุมัติให้คืนพื้นที่สนามมวยเวทีลุมพินี ถนนพระราม 4 และอนุมัติให้ใช้พื้นที่ใน ความดูแลบริเวณศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา จำนวน 6 ไร่ 2 งาน เพื่อทำการก่อสร้าง สนามมวยเวทีลุมพินี แห่งใหม่ โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ความอนุเคราะห์ ในเรื่องงบประมาณการก่อสร้างวงเงิน 380 ล้านบาท ทั้งนี้ หมายรวมถึงการออกแบบและการควบคุมการก่อสร้างด้วย ซึ่งตามแผนงานระยะเวลาในการก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2555 กำหนดแล้วเสร็จใน 28 กุมภาพันธ์ 2557 รวม 577 วัน
สำหรับรูปแบบในการก่อสร้าง ประกอบด้วยอาคารห

กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ รับผิดชอบตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2499 – 30 มิถุนายน 2522

กรมสวัสดิการทหารบก รับผิดชอบตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2522 – ตุลาคม 2563